มัสยิด คอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์ ( บางกะสี )
ﻤﺴﺨﺪﺨﻴﺮﻴﺔﻻﺍﺴﻼﻤﻴﺔ
มัสยิด คอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์ (บางกะสี) ปัจจุบันตั้งอยู่ ณ เลขที่ 4 หมู่ที่ 9 ถนนเทพารักษ์ ตำบล บางปลา อำเภอ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีสัปปุรุษประจำมัสยิดจำนวน 464 ครอบครัว สัปปุรุษชาย 758 คน สัปปุรุษหญิง 737 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,495 คน มีนาย สมศักดิ์ (ฮัจยีตอฮา) วงศ์ประเสริฐ เป็นอีหม่าม นายสมาน (อับดุรเราะห์มาน) บรฮีม เป็นคอเต็บ และนาย สุนันท์ (อัดนาน) วันเอเลาะ เป็นบิหลั่น
ประวัติมัสยิด
เดิมชาวบ้านบางกะสี ได้มีส่วนริเริ่มในการก่อสร้างมัสยิด ดีนุ้ลอิสลาม หมู่ที่ 10 ตำบลบางปลา อำเภอ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และได้ร่วมกันทำพิธีทางศาสนาที่มัสยิด ดีนุ้ลอิสลามมาโดยตลอด แต่เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลในสมัยนั้นทำให้รู้สึกว่ามีความลำบาก โดยเฉพาะในเดือนรอมฎร การละหมาดตอรอเวี๊ยะทำให้ไปร่วมละหมาดได้น้อย หรือในบางโอกาสเมื่อมีการทำบุญร่วมกันในวันสำคัญๆ ก็ไม่สะดวกโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ชาวบ้านบางกะสีจึงปรึกษาหารือกันจัดหาสถานที่ที่เพื่อรวมกันทำละหมาดขึ้นมา
มัสยิดหลังแรก พ.ศ. 2483
จากการปรึกษาหารือในการหาสถานที่เพื่อทำมัสยิดในขณะนั้นได้มีผู้ริเริ่มระดับผู้นำคือ 1. ฮัจยี มัดดง ซาบีดี 2. ฮัจยี อับดุลมุดตอเล็บ ทรงศิริ 3. อัจยี ดาวูด มินบุรี 4. อัจยี อับดุลรอโซ้ล หวังเจริญ 5. ฮัจยี อับดุลเลาะห์ หวังเจริญ 6. ผู้ใหญ่ อิบรอเฮม หมัดแสง 7. นาย มุขตาส เงาะไพรวัลย์ 8. นาย อาลี นุสดิน 9. นาย อับบาส ยำบ๊ะ และได้เลือกสถานที่บริเวณปากคลองบางกะสีเป็นที่จัดสร้างมัสยิดหลังแรกโดยมีผู้บริจาคและจัดซื้อที่ดินดังต่อไปนี้ 1. ฮัจยีอับดุลรอโซ้ล หวังเจริญ บริจาค 1 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา 2. อัจยีดาวูด และฮัจยะห์อุมุกลาโซม มินบุรี จัดซื้อ 2 งาน 3. ฮัจยีอาบูบากาส และอัจยะห์ไมมูเนาะห์ เงาะไพรวัลย์ จัดซื้อเพิ่ม 2 งาน รวมเป็น 2 ไร่ 3 งาน 47 ตารางวา
ปีพ.ศ.2483 มัสยิดหลังแรกก็ได้ถูกก่อสร้างขึ้นมาในลักษณะของบาแลที่ไม่แข็งแรงมากนักมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร ชาวบ้านจะเรียกขานมัสยิดหลังนี้ว่ามัสยิดคอกวัว เพราะว่าจะทำการละหมาดกันบนพื้นดินโดยทุบดินให้เรียบแล้วปูด้วยเสื่อเตย (เหมือนบ้านพักอาศัยในสมัยเก่า) จากนั้นสัปปุรุษและผู้ริเริ่มได้มีมติให้นายมุขตาส เงาะไพรวัลย์ ดำรงตำแหน่งอีหม่ามเป็นท่านแรกของมัสยิด คอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์แห่งนี้
มัสยิดหลังที่2
ปีพ.ศ.2490 เมื่อมัสยิดหลังแรกเริ่มที่จะคับแคบ และชำรุดทรุดโทรม สัปปุรุษในสมัยนั้นก็คิดที่จะก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้น จึงได้ทำการติดต่อขอซื้อยุ้งฉางข้าวจากโรงสีข้าวที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีในราคา 800 บาท(ราคาในสมัยนั้น) มาทำการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่เป็นทรงปั้นหยาหลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าวมีขนาดความกว้าง 7 ยาว 12 เมตร โดยมีฮัจยีมูฮัมหมัดนูร รอมาลี ดำรงตำแหน่งอีหม่ามในขณะนั้น
ปีพ.ศ. 2493 มัสยิดคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์ (บางกะสี) ได้ยื่นขอจดทะเบียนมัสยิดกับนายทะเบียนจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นมัสยิดลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรปราการ มี ฮัจยีอับดุลรอโซ้ล หวังเจริญ เป็นอีหม่าม ฮัจยีเดช ทรงศิริ เป็นคอเต็บ และฮัจยีหวัง โหมดเสม เป็นบิหลั่น
มัสยิดหลังที่3
ปีพ.ศ. 2516 มัสยิดหลังที่สองได้ชำรุดทรุดโทรมอย่างมากไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ เวลาประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆไม่สะดวกสบายและเกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายขึ้นมาได้ คณะกรรมการ และสัปปุรุษในขณะนั้นโดยการนำของฮัจยีอับดุลรอโซ้ล หวังเจริญ จึงได้มีมติว่าจะทำการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นมาเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตรเป็นทรงปั้นหยา ค่าก่อสร้างประมาณ 400,000 บาท (สี่แสนบาท) โดยมี ฮัจยะห์สะอาดะห์ จันทน์สนิท บริจาคเงินมาจำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ฮัจยีทองใบ แดงเนียม 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) สัปปุรุษและผู้มีจิตศรัทธา 110,000 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาท) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 220,000 บาท (สองแสนสองหมื่นบาท) ฮัจยะห์ไมมูเนาะห์ เงาะไพรวัลย์ บริจาคการจัดทำพื้นหินขัดของมัสยิดทั้งหมด แต่การก่อสร้างก็ต้องหยุดลงเมื่อพบว่าฐานล่างของอาคารมัสยิดได้ทรุดตัวลงมาจึงทำให้ไม่สามารถทำการก่อสร้างต่อไปได้ จึงทำการหยุดการก่อสร้างเพียงเท่านี้ และใช้ประกอบพิธีทางศาสนาตลอดมากว่า 25 ปี
มัสยิดหลังที่4 (มัสยิดหลังปัจจุบัน)
ปีพ.ศ. 2543 ชุมชนบางกะสีได้พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา ความเจริญทางด้านต่างๆมารายล้อมอยู่รอบชุมชนแห่งนี้ การขยายตัวของชุมชน การเพิ่มขึ้นของจำนวนสัปปุรุษ การมีแหล่งอาชีพ โรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย มีผู้ที่อพยพย้ายถิ่นฐาน และผู้ที่มาประกอบอาชีพตามโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมุสลิมที่มาจากภาคต่างๆมารวมกันมากขึ้น มัสยิดจึงไม่เพียงพอกับการประกอบพิธีทางศาสนา ประกอบกับเหตุผลในการหยุดการก่อสร้างดังกล่าวมาแล้ว
คณะกรรมการ และสัปปุรุษมัสยิด โดยการนำของอีหม่าม ฮัจยีอับดุลมุดตอเล็บ ประเสริฐอาภา อีหม่ามในขณะนั้นจึงได้มีมติในที่ประชุมว่าสมควรทำการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป โดยในที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ ฮัจยีฮารูน ศรีสมัย เป็นประธานการก่อสร้าง ออกแบบให้มัสยิดมีขนาดความกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร มี 2 หออะซฺาน โดยตั้งงบก่อสร้างไว้ประมาณ 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาท) โดยมีการวางศิลารากฐานเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2543 โดย ฯพณฯ อาจารย์ สวาสดิ์ สุมาลย์ศักดิ์ จุฬาราชมนตรี มาเป็นประธานในพิธี
การก่อสร้างดำเนินการไปได้ไม่เท่าไร ท่านอิหม่าม ฮัจยีอับดุลมุดตอเล็บ ประเสริฐอาภา ก็ได้ถึงอายัลกลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ(ซบ.) แต่ไม่นานเราก็ได้ผู้นำคนใหม่ที่เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่ได้รับความไว้วางใจจากสัปปุรุษให้มาเป็นผู้นำของชาวบางกะสีคือ อิหม่าม ตอฮา วงศ์ประเสริฐ แต่การก่อสร้างมัสยิดก็มีอุปสรรค เมื่อประธานการก่อสร้างได้ขอลาออกจากตำแหน่งคอเต็บ และประธานการก่อสร้างด้วยเหตุผลสุขภาพของท่านไม่อำนวย
คณะกรรมการมัสยิดจึงได้มีมติแต่งตั้งให้ ฮัจยีอิสมาแอล ประเสริฐอาภา เหรัญญิกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ซึ่งเป็นน้องชายของ
อีหม่าม ฮัจยีอับดุลมุดตอเล็บ ประเสริฐอาภาเป็นประธานการก่อสร้างแทน จากการที่เรามีผู้นำที่เป็นคนหนุ่มที่หัวก้าวหน้า กับท่านประธานการก่อสร้างที่ทุ่มเทให้กับการก่อสร้างอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับคณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษที่ร่วมแรงร่วมใจกันอีกทั้งผู้ที่มีจิตศรัทธาหลายๆท่าน จึงทำให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยภายใน3ปี ทั้งที่ในเวลาเริ่มต้นนั้นมัสยิดมีเงินเพียง 400,000 บาท (สี่แสนบาท) และค่าก่อสร้างก็เกินจากงบประมาณที่ตั้งไว้งบค่าใช้จ่ายการก่อสร้างทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 6,000,000 บาท (หกล้านบาทเศษ)
และบัดนี้มัสยิดคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์ (บางกะสี) พร้อมแล้วที่จะใช้ประกอบอามั้ลอิบาดะห์และพิธีทางศาสนาสืบต่อไป ถึงแม้มัสยิดของเราจะไม่โอ่อ่าสวยงามเท่ากับมัสยิดอื่นๆ ที่มีงบประมาณการก่อสร้างมากกว่าเรา แต่มัสยิดหลังนี้ก็เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวบางกะสีทุกคน ที่จะดำรงไว้ซึ่งศาสนาแห่งพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก และบ่งบอกถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของพวกเราชาวบางกะสี ทุกคน อิหม่ามฮัจยีตอฮา กล่าว
การศึกษา
มัสยิดฯ ได้จัดให้มีการศึกษาความรู้พื้นฐานทางด้านศาสนา โดยมีโรงเรียนคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์เปิดสอนฟัรดูอีนตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.6 ตามหลักสูตรของสมาคมคุรุสัมพันธ์ ปัจจุบันมีนักเรียนรวมทั้งสิ้น 250 คน มีครู 7 ท่าน มีฮัจยีอาลี ประเสริฐอาภา เป็นครูใหญ่ และได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ จากมูลนิธิ "ฮัจยียะห์ยา ประเสริฐอาภา"
นอกจากนี้อิหม่ามฮัจยีตอฮาฝากไว้อีกว่า เนื่องจากว่าสังคมปัจจุบันนี้ค่อนข้างที่จะมีปัญหารุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันหลายหลาก เชื้อชาติ ศาสนา และอีก 2 ปีข้างหน้า ปีพ.ศ.2558 ประชาคมอาเซียนก็จะเข้ามา ในส่วนของคณะกรรมการมัสยิดเองก็ได้เตรียมการตั้งรับและมีการบูรณาการใน เรื่องของการเรียนการสอนให้กับเยาวชนเพราะในโลกเราไม่ได้อยู่กันแค่นี้ สังคมมุสลิมต้องเจริญก้าวหน้าเพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องของงบประมาณที่ได้มาแต่ละปี เราก็จะนำมาดูแลเด็กกำพร้า, ดูแลหญิงหม้าย, ดูแลผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคม
ทั้งนี้เนื่องจากว่ามัสยิดคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์เป็นมัสยิด ต้นแบบ มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ และหลายศาสนาเข้ามาใช้สถานที่เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทางคณะกรรมการมัสยิดจึงมีมติทำซุ้มทางเข้ามัสยิด หากผู้มีจิตศรัทธาท่านใดประสงค์จะบริจาคเพื่อสมทบทุน ท่านสามารถโอนเงินเข้าบัญชีมัสยิดโดยตรงได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเทพารักษ์ ออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มัสยิดคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์ บัญชีเลขที่ 3462138146 สอบถามข้อมูลที่ ฮัจยีอุสมาน ประเสริฐอาภา (เหรัญญิก) โทร.0870186785
รายนามคณะกรรมการบริหารมัสยิดคอยรียะตุ้ลอิสลามียะห์
1. นายสมศักดิ์ (ตอฮา) วงศ์ประเสริฐ อีหม่าม ประธานคณะกรรมการฯ
2. นายสมศักดิ์ (อาลี) ประเสริฐอาภา คอเต็บ รองประธาน และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา
3. นายสุนัน (อัดนาน) วันเอเลาะ บิหลั่น รองประธาน
4. นายสมควร (อุสมาน) ประเสริฐอาภา เหรัญญิก และประชาสัมพันธ์
5. นายบุญส่ง (มันซูร) มาลัยแดง นายทะเบียน
6. นายทองสุข (ซุกรี่) วันยาเล ผู้ช่วยนายทะเบียน
7. นายสมชาย เจริญญาติ กรรมการ
8. นายธานี (ซาฟีอี) มิตรธรรมณะ กรรมการ
9. นายจำรัส (อิบรอฮีม) ปอเงิน กรรมการ
10. นายสมาน (ฟารุก) แก้วนิ่มพาลี กรรมการ
11. นายไพบูลย์ จูเล็ก กรรมการ
12. นายสุมิตร หวังเจริญ กรรมการ
13. นายอดิศักดิ์ (มูบาร๊อก) เงาะไพรวัลย์ กรรมการ และเลขานุการ
14. นายพีรศักดิ์ พิกุลหอม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ