1 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ 10550 ก่อนอื่นผู้เรียบเรียงประวัติมัสยิดคลองกันยาเราะห์หมัด ใคร่ขอชี้แจงผู้อ่านทุกท่านทราบเสียก่อนว่า การเรียบเรียงครั้งนี้ได้ขอคำแนะนำและคำปรึกษาจาก ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น อดีตอิหม่ามมัสยิดคลองกันยาเราะห์หมัด ท่านผู้นี้ได้คลุกคลีอยู่กับวงการของมัสยิดมาโดยตลอด ร่วมกับตวนฮัจยีกาเด็ด สะเล็ม อดีตคอเด็บประจำมัสยิด (ถึงแก่กรรมแล้ว) และอั้ลมัรฮูมะห์นางฮาบีเบาะห์ ลอมะเด็น เพื่อต้องการให้ประวัติและความเป็นมาของมัสยิดใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
คลองกันยา เป็นชื่อของคลองที่ใช้สัญจรไปมาของประชาชนในแถบนี้ คลองนี้มีความยาว 5 กม.ตั้งแต่แยกจากลำคลองสำโรงที่ ต.บางบ่อ อ.บางบ่อ บรรจบกับลำคลองแม่น้ำคลองด่านที่บ้านท้องคุ้ง ค.คลองด่าน อ.บางบ่อ ห่างจากประตูระบายน้ำชลหารพิจิตรประมาณ 2 กม.
ความเป็นมาของมุสลิมในมูเก่มนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ.2471 ได้มีประชาชนมุสลิมจากหลายท้องถิ่นหลายจังหวัด ได้อพยพมาอยู่ในลำคลองนี้และบริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากบางลำภู หนองจอก คู้ ลำผักชี เปร็ง คลองสิบเก้า บางบัวทอง พระยาบรรลือ บางบัวทอง เข้ามาประกอบอาชีพในการทำนา การจับปลา ท้องถิ่นนี้มีความสมบูรณ์มาก เรียกได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อมีประชากรมุสลิมมากขึ้นก็จำเป็นจะต้องมีมัสยิดเพื่อประกอบศาสนกิจ จึงได้มีผู้ใหญ่ในสมัยนั้นได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่จะจัดตั้งมัสยิดขึ้น
ในปี พ.ศ.2472 ท่านนายกองหวัง อาดัม เป็นผู้นำในสมัยนั้นได้ริเริ่มสร้างมัสยิดขึ้นเป็นคนแรก เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจกลางแจ้งชั่วคราวก่อน ต่อมาได้เริ่มสร้างเป็นเรือนไม้ ฝาจากทางหลังคาจาก มีความยาว 8 เมตร กว้าง 6 เมตร ทรงปั้นหยา การก่อสร้างได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้ที่มีจิตศรัทธาในท้องถิ่นทั้งสิ้น ส่วนอิหม่ามในการประกอบศาสนกิจได้แก่ ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อิสสะริยะ ปะลังหวัง ตังละแม เป็นอิหม่ามผลัดเปลี่ยนกันเป็น มัสยิดหลังนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจนานประมาณ 8 ปี
ต่อมาในปี พ.ศ.2480 มีมุสลลิมอพยพมามากขึ้นเรื่อย ๆ และมีปัญหาเรื่องที่ดิน จึงได้ย้ายมัสยิดมาสร้างขึ้นใหม่ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ 200 เมตร โดยคงลักษณะเดิมไว้ทุกประการ เป็นอาคารไม้ ฝาจากทาง หลังคามุงสังกะสี เสาชะโอน ยาว 12 เมตร กว้าง 8 เมตร ได้ใช้ประกอบศาสนกิจเรื่อยมา โดยมี ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อิสสะริยะ และปะลังหวัง ตังละแม ผลัดเปลี่ยนกันเป็นอิหม่าม ส่วนบิหลั่นนั้น มีนายสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง ปฏิบัติหน้าที่บิหลั่นเรื่อยมา และในขณะนั้น ท่านอิหม่ามทั้งสองไม่สามารถจะปฏิบัติได้ท่านได้ลาออกไป
ต่อมาผู้ที่ทำหน้าที่สืบต่อจากท่านทั้งสอง ได้แก่ นายฟา สะเล็ม เป็นอิหม่าม ส่วนผู้เป็นบิหลั่น นายสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง ส่วนคอเต็บสัปปุรุษได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็น ได้ประกอบศาสนกิจเรื่อยมาเป็นเวลานาน 13 ปี
ในปี พ.ศ.2492 ได้มีพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามขึ้นใช้ ได้ทำการจดทะเบียนมัสยิดขึ้น ได้หมายเลขที่ 1 ณ ที่ว่าการอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการเมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้วได้มีการเลือกตั้งตำแหน่ง อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ประจำมัสยิด ผลปรากฎว่าสัปปุรุษประจำมัสยิดพร้อมใจกันเลือก นายฮารณ อาดัม เป็นอิหม่าม นายกาเด็ด สะเล็ม เป็นคอเต็บ นายสมาน บินหะยีตะเย็บ เป็นบิหลั่น ได้ปฎิบัติหน้าที่เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2492 นายฮารณ อาดัม อิหม่าม นายสมาน บินหะยีตะเย็บ บิหลั่น มีกิจธุระจำเป็นจึงมอบหน้าที่ให้นายสมบุญ (หมัด) เป็นอิหม่าม ส่วนหน้าที่บิหลั่นสัปปุรุษผลัดเปลี่ยนกันเป็น และในระยะเวลานั้นมัสยิดเกิดชำรุดเนื่องจากมีปลวกมาทำลายและกัดกิน ประกอบกับวัสดุในการก่อสร้างนั้นไม่แข็งแรงเป็นเหตุให้ปลวกทำลายได้โดยง่าย ซึ่งใช้ประกอบศาสนกิจมานาน จึงไม่เป็นที่ปลอดภัยต่อผู้มาใช้สถานที่นี้ประกอบศาสนกิจ คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษได้มีการประชุมหารือกัน และมีมติให้มีการก่อสร้างอาคารมัสยิดขึ้นมาใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอาคารไม้ชั้นเดียยว ยาว 16 เมตร กว้าง 8 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ดำเนินการก่อสร้างในนป พ.ศ.2494 นั่นเอง ในระยะนั้นการประกอบอาชีพของพี่น้องมุสลิมในตำบลนี้ฝืดเคืองมาก การก่อสร้างอาคารมัสยิดไม่รุดหน้าเป็นเหตุให้การก่อสร้างต้องค้างมาเป็นเวลาหลายปี ต่อมาคณะกรรมการมัสยิดได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากบรรดาผู้มีจิตศรัทธาหลายท้องที่หลายตำบลด้วยกัน ทำให้มัสยิดหลังนี้ได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจเรื่อยมา โดยมีนายสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง เป็นอิหม่าม นายกาเด็ด สะเล็ม เป็นคอเต็บ ส่วนบิหลั่นสัปปุรุษผลัดเปลี่ยนกันเหมือนเดิม ต่อมานายฮารณ อาดัม อิหม่าม นายสมาน บินหะยีตะเย็บได้ลาออกจากหน้าที่ จึงเป็นเหตุให้ตำแหน่งอิหม่ามและตำแหน่งบิหลั่นว่างลง
ในปี พ.ศ.2500 ได้มีการเลือกตั้งอิหม่ามและบิหลั่นประจำมัสยิดขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างลง การเลือกตั้งในครั้งนี้ผลปรากฎว่า นายสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง อิหม่าม นายอาลี วงศ์ประเสริฐเป็นบิหลั่น ถูกต้องตามกฎหมาย
ในปี พ.ศ.2503 นายมาน วงศ์เจริญ ได้มอบที่ดินวากัฟให้กับมัสยิดซึ่งเป็นที่ตั้งของมัสยิด จำนวน 2 ไร่ 2 งาน มีนายสมบุญ (มัด) แจ่มสว่าง เป็นผู้รับมอบที่ดินดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย
ปี พ.ศ.2510 ได้มอบที่ดินวากัฟให้มัสยิด ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัสมีเนื้อที่ 4 ไร่
ปี พ.ศ.2512 ได้มอบที่ดินวากัฟให้มัสยิด ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัสมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน และในปีเดียวกันนั้นเอง ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ขณะนั้นทำหน้าที่เหรัญญิกได้ปรึกษาคณะกรรมการมัสยิดว่าควรซื้อที่ดินที่เหลือจากการวากัฟของตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัส เพื่อให้ที่ดินของมัสยิดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คณะกรรมการมัสยิดมีมติให้ทำการซื้อที่ดินดังกล่าวโดยให้ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น เป็นผู้เจรจาขอซื้อที่ดินจากตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัส ที่เป็นเศษอยู่ 2 ไร่ นำมาขายเพื่อวากัฟให้กับมัสยิด เงินที่ได้จากการขายที่ดินนี้จะนำมาชำระให้แก่ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัส เงินที่เหลือจากการชำระค่าที่ดินจะนำมาใช้ในกิจการของมัสยิด เพื่อที่จะขยายกุโปร์ให้กว้างออกไปอีก ซึ่งกุโบร์เดิมนั้นคับแคบ จึงได้ตกลงขายที่ดินดังกล่าวให้กับตวนฮัยียะห์ยา ลอมะเด็น เพื่อจะได้นำที่ดินดังกล่าวมาขายทำวากัฟให้กับมัสยิดต่อไป
ในปี พ.ศ. 2515 คณะกรรมการมัสยิดและสัปปุรุษได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า มัสยิดกำลังใช้ประกอบศาสนกิจอยู่นี้ ได้มีปลวกมาทำลายกัดกินจนทำให้ตัวอาคารมัสยิดทรุดโทรมลงมาก ขืนปล่อยทิ้งไว้จะไม่เป็นที่ปลอดภัยต่อผู้มาประกอบศาสนกิจ อันเนื่องจากว่าได้ทำการก่อสร้างมานานอาคารเป็นไม้ยางจึงทำให้ปลวกทำลายได้โดยง่าย คณะกรรมการมัสยิดและปวงสัปปุรุษจึงมีมติให้ทำการสร้างอาคารมัสยิดขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมลง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีขนาดความยาว 20 เมตร กว้าง 15 เมตร ต่อจากนั้นได้เริ่มวางเข็มทิศกิบลัตโดนท่านอาจารย์รอฟีกี คุรุสวัสดิ์ นายพินิจ มะนิลา และคณะ
ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2516 คณะกรรมการมัสยิดได้จัดงานวางศิลารากฐานอาคารมัสยิดหลังใหม่ โดยมีท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานในพิธี และมีนายสุลัยมาลย์ วงศ์พานิช เป็นประธานจัดงาน การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบรรดาผู้มีจิตศรัทธาเป็นอย่างดี หลังจากนั้นได้ไปติดต่อ นายยะมิน อับดุลเลาะห์ ช่า
เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดหลังใหม่ ได้ทำการตอกเข็มเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2517 ทำการก่อสร้างเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2519 การก่อสร้างเริ่มหยุดชงักลงเนื่องจากหมดงบประมาณในการก่อสร้าง ประกอบกับสัปปุรุษส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ยากจนไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนทรัพย์ในการก่อสร้างทั้งหมดได้ คณะกรรมการมัสยิดจึงได้บอกบุญไปยังพี่น้องมุสลิมโดยทั่วไป ทั้งในตำบลและต่างจังหวัด และได้รับความร่วมมือร่วมใจจากท่านผู้มีจิตศรัทธาโดยทั่วไป
ในปี พ.ศ.2522 ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อังกัส ได้วากัฟที่ดินเพื่อเป็นศาสนสมบัติของมัสยิดอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 ที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ 14 ไร่ 50 วา มีท่านอิหม่ามสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง เป็นผู้รับมอบเป็นชื่อของมัสยิด ในขณะดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้นคณะกรรมการมัสยิด ได้ใช้อาคารมัสยิดหลังเก่าประกอบศาสนกิจเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2523 จึงได้ย้ายไปประกอบศาสนกิจบนอาคารหลังใหม่ เนื่องจากมัสยิดหลังเก่าไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งในการประกอบศาสนกิจของปวงสัปปุรุษโดยทั่วไป ต่อมาการก่อสร้างได้หยุดชงักลงอีกเนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินการก่อสร้าง ต้องหยุดดำเนินการประมาณ 3 ปี
ในปี 2527 คณะกรรมการมัสยิดได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาปัจจัยในการดำเนินการก่อสร้างอาคารมัสยิดให้แล้วเสร็จต่อไป ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ตวนฮัจยีกาเด็ด สะเล็ม ได้ไปพบปะกับตวนฮัจยีสมรรถ วงศ์พานิช ท่านเป็นเลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด การไปพบท่านในครั้งนี้เพื่อขอให้ท่านช่วยเหลือในการก่อสร้างอาคารมัสยิดที่ค้างการก่อสร้างมานานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป ตวนฮัจยีสมรรถ วงศ์พานิช ท่านไม่ขัดข้องพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อให้การก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ดังนั้นท่านจึงให้คณะกรรมการมัสยิดหาช่างมาดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติม ในที่สุดได้นายสมาน แจ่มสว่าง ช่างรับเหมามาทำการก่อสร้างช่วงหนึ่ง ต่อมาได้เปลี่ยนช่างมาทำการก่อสร้างใหม่โดยมีฮัจยีวาฮับ แสละน้อย มาทำการก่อสร้างต่อ ท่านได้สั่งให้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ การก่อสร้างในครั้งนี้ฮัจยีวาฮับ แสละน้อย ได้ร่วมการก่อสร้างในครั้งนี้เป็นเงิน 80,000 (แปดหมื่นบาท) นอกจากนั้นตวนฮัจยีสมรรถ วงศ์พานิช ได้รวบรวมจากบรรดาญาติพี่น้อง ฮัจยีสุวิช วงศ์พานิช ฮัจยีฮิบ วงศ์พานิช อาจารย์นภา หุ่นจำลองและฮัจยีมุทร วงศ์พานิช เป็นจำนวนเงิน 800,000 (แปดแสนบาท) ในขณะทำการก่อสร้างอยู่นั้น ท่านอิหม่ามสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2527 ทำให้ตำแหน่งอิหม่ามว่างลงคณะกรรมการมัสยิดได้ประชุมมีมติให้ทำการเลือกตั้งอิหม่ามประจำมัสยิดขึ้นใหม่ ทำการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2528 โดยมีตวนฮัจยีสมรรถ วงศ์พานิช คุณกอเซ็ม ปานทอง กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาทำการเลือกตั้ง ผลปรากฎว่า ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามสืบแทนต่อไป ในการก่อสร้างอาคารมัสยิด ได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2528
ในปี พ.ศ.2544 ตวนฮัจยีกาเด็ด สะเล็ม ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2544 รวมเวลาที่ทำหน้าที่คอเต็บ 45 ปี ตำแหน่งคอเต็บจึงว่างลง และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2544 ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ได้ขอลาออกจากอิหม่ามประจำมัสยิดเนื่องจากสุขภาพไม่ดี ฉนั้นตำแหน่งอิหม่ามก็ว่างลง รวมเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่อิหม่ามเป็นเวลา 17 ปี รวมเวลาที่ท่านทำงานด้านมัสยิดมาจวบจนท่านลาออกจากอิหม่ามเป็นเวลานานถึง 60 ปีเศษ
ในปี พ.ศ.2545 คณะกรรมการมัสยิดได้ดำเนินการเลือกตั้งขึ้นใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 8 ท่านมาทำการเลือกตั้งคือ
1.ฮัจยีอารีย์ หวังสระ รองประธานอิสลามประจำจังหวัด
2.นายสวัสดิ์ เนียมประพันธ์ รองประธานอิสลามประจำจังหวัด
3.นายสมพงษ์ ประเสริฐอาภา กรรมการ
4.นายหะมะ สานิ กรรมการ
5.นายสมานชัย อาดัม กรรมการ
6.นายเสงี่ยม มิมมา กรรมการ
7.นายเสงี่ยม แอดำ กรรมการ
8.นายมูซอ สังข์สว่าง กรรมการ
ทำการเลือกตั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 ผลปรากฎว่า ตำแหน่งอิหม่ามได้แก่ นายดาวุฒิ แจ่มสว่าง คอเต็บได้แก่ นายอาบูบากั๊ด รอมะเด็น หลังจากเลือกตั้งไม่นาน นายอาลี วงศ์ประเสริฐ บิหลั่นได้ถึงแก่กรรมลงอีก เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 รวมเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่นาน 45 ปี ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 ได้ทำการเลือกตั้งตำแหน่งบิหลั่นในครั้งนี้มีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาทำการเลือกตั้ง 5 ท่านคือ
1.นายอารีย์ หวังสระ รองประธานอิสลามประจำจังหวัด
2.นายสมพงษ์ ประเสริฐอาภา กรรมการ
3.นายเสงี่ยม แอดำ กรรมการ
4.นายเสงี่ยม มิมมา กรรมการ
5.นายสมาชัย อาดัม กรรมการ
ผลปรากฎว่าตำแหน่งบิหลั่นได้แก่ นายหวังซัน จุ่นแก้ว ในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งนี้เป็นคนใหม่ทั้งหมด พร้อมที่จะบริหารงานของมัสยิดให้เจริญรุดหน้าสืบไป
มัสยิดคลองกันยาเราะห์หมัดได้ทำการก่อสร้างมาทั้งหมด 4 ครั้ง ๆ สุดท้ายก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก วางศิลารากฐานเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2516 โดยมีอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานในพิธี เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2517 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2528 รวมเวลาทำการก่อสร้าง 11 ปีเต็ม ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 1,600,000 บาท (หนึ่งล้านหกแสนบาท) เงินจำนวนนี้ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากท่านผู้มีจิตศรัทธาในมัสยิดนี้ และพี่น้องจากมัสยิดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตระกูล วงศ์พานิช ได้กรุณาร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารมัสยิดจนทำให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ในปี 2529 คณะกรรมการมัสยิดและปวงสัปปุรุษได้ร่วมกันจัดงานเปิดป้ายอาคารมัสยิดหลังใหม่ขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2529 โดยมีท่านอาจารย์ประเสริฐ (มูฮัมมัด) มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรีเป็นประธานในพิธี และตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น เป็นประธานจัดงาน คณะกรรมการมัสยิดและปวงสัปปุรุษทั้งหมดขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่เอกองค์อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ที่ทรงประทานความสะลามัต เราะห์หมัด และริสกีแก่ผู้บริจาค และผู้ให้ความร่วมมือสนับสนุนทำให้มัสยิดนี้สำเร็จเรียบร้อย แลละใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจสืบต่อไปจนกรระทุุกวันนี้
อนึ่ง มัสยิดคลองกันยาเราะห์หมัดได้ทำการก่อสร้างหออะซานของมัสยิด สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน 230,000 บาท และก่อสร้างต่อเติมตัวอาคารมัสยิดออกไปอีก 10 เมตร สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท ร่วมค่าก่อสร้างมัสยิดทั้งหมเป็นเงิน 2,130,000 บาท (สองล้านหนึ่งแสนสามหมื่นบาท)
บุคคลที่ควรยกย่องในอดีตถึงปัจจุบัน
ในอดีตมีมุุสลิมอพยพมาอยู่ในลำคลองกันยานี้เพิ่มมากขึ้น มาจากหลายท้องถิ่นหลายจังหวัด ต่อมามีมุสลิมจำนวนหนึ่งอพยพไปอยู่ที่อื่น เช่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดระยอง บ้าง ฉะนั้นมุสลิมที่ตั้งหลักฐานอยู่ในมัสยิดนี้ที่เป็นบุคคลที่ควรยกย่องที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมมุสลิมมีดังนี้
1.นายกองหวัง อาดัม ท่านเป็นบุคคลแรกที่ริเริ่มสร้างมัสยิดเป็นมัสยิดหลังแรกในคลองกันยา ท่านมีหน้าที่เป็นนายกองนา เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
2.ตวนฮัจยีอิบรอฮีม อิสสะริยะ ท่านเป็นอิหม่ามคนแรก มีความรู้ด้านศาสนา อบรมและสอนศาสนาเรื่อยมา มีความสุขุมเยือกเย็น เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
3.ปะลังหวัง ตังละแม ท่านเป็นอิหม่าม ผลัดเปลี่ยนกับตวนฮัจยีอิบรอฮีม ท่านมีความรู้และทำการสอนศาสนาแก่ปวงสัปปุรุษ และบุคคลทั่วไป
4.นายฟา สะเล็ม ท่านเป็นอิหม่ามต่อจากปะลังหวัง ตังละแม ท่านมีความรู้และทำการสอนศาสนาแก่เยาวชน และปวงสัปปุรุษ
5.ตวนฮัจยีสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง ท่านเป็นบิหลั่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 และท่านมาดำรงตำแหน่งอิหม่ามเมื่อปี พ.ศ.2500 ท่านมีความรู้ด้านศาสนา มีความชำนาญในการสอนอัลกุรอานแก่เยาวชนในมูเก่ม ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการหาทุนก่อสร้างอาคารมัสยิดร่วมกับอดีตท่านอิหม่ามฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2527
6.ตวนฮัจยีวาฮัย บินหะยีตะเย็บ ท่านเป็นผู้ช่วยอิหม่ามสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง เรื่อยมาท่านมีความรู้สอนอัลกุรอานแก่เยาวชนของมัสยิด และเป็นผู้ที่ร่วมหาทุนในการก่อสร้างมัสยิดตลอดมาท่านถึงแก่กรรมก่อนอิหม่ามสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง เล็กน้อย
7.ตวนฮัจยียะห์ยา ลอมะเด็น ท่านเป็นอิหม่ามต่อจากอิหม่ามสมบุญ (หมัด) แจ่มสว่าง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นบุคคลที่ต่อสู้ในหนทางของอัลเลาะห์มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นสร้างมัสยิดหลังแรกสร้างมัสยิดหลังแรกเรื่อยมาจนถึงมัสยิดหลงที่ 4 หลังสุดท้าย จนกระทั่งลาออกจากการทำหน้าที่อิหม่าม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2544 เนื่องจากสุขภาพไม่ดี เป็นเวลา 60 กว่าปี เป็นบุคคลที่ปวงสัปปุรุษเคาระเชื่อฟัง เป็นหัวหน้าในการก่อสร้างมัสยิดทุกหลัง และร่วมกับอิหม่ามสมบุญ แจ่มสว่าง หาทุนในการก่อสร้างมัสยิด และเป็นผู้ที่ต่อสู้ในด้านการเรียนการสอนตลอดมา
8.ตวนฮัจยีกาเด็ด สะเล็ม ท่านเป็นคอเต็บประจำมัสยิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2545 เป็นเวลา 45 ปี ท่านมีความรู้ความสามารถในการสอนศาสนาแก่เยาวชนในมัสยิด ด้านสังคมท่านเป็นืั้รู้จักของคนทั่วไป ท่านดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจนถึงปี พ.ศ.2542 ท่านเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป
ฐานะความเป็นอยู่ด้านอาชีพของสัปปุรุษ
เมื่อ พ.ศ.2470 มุสลิมอพยพมาอยู่กันครั้งแรกมีอาชีพในการทำนา และการจับปลาน้ำจืด ในสมัยนั้นการทำนาข้าวได้ผลดีมากจึงมีมุสลิมอพยพมามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีคนมากขึ้นที่ทำนากกลงจึงมีมลิมบางส่วนได้อพยพไปอยู่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดตราด และท้องถิ่นอื่น ๆ อีก ต่อมาการทำนาไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรอันเนื่องจากมีโรคข้าวระบาด จึงได้เปลี่ยนอาชีพจากการทำนามาเป็นอาชีพเลี้ยงปลาสลิด ส่วนผู้ที่ไมม่มีนาทำก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป การเลี้ยงปลาสลิดและการหาปลาน้ำจืดทำให้มุสลิมในสังกัดมัสยิดคลองกันยาฯ มีฐนะพออยู่ได้ ส่วนการรับจ้างในขณะนั้นมีอัตราจ้างที่ต่ำมาก จนกระทั่งถึงยุคของโรงงานอุตสาหกรรม มุสลิมที่ประกอบอาชีพรับจ้างก็หันมาทำงานโรงงานกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถทำงานโรงงานอุตสาหกรรมได้ก็หันมาทำบ่อปลาสลิด ปลูกพืช เช่น ข่า ตะไคร้ เป็นต้น บางส่วนก็ทำการค้าขาย ต่อมามีอาชีพอีกชนิดหนึ่ง คืออาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ก็มีการเลี้ยงบางส่วน